คงมีไม่กี่คนที่นึกถึงการลงทุนวัยเกษียณ เพราะส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการลงทุนในวัยทำงาน เพื่อให้มีรายได้แบบ Passive Income มากเพียงพอก่อนถึงวัยเกษียณ หรือเพื่อให้เกษียณได้ก่อนกำหนด ทั้งนี้หากเกษียณแล้วแต่ยังมีเงินเย็นมากเพียงพอที่จะลงทุนต่อ ก็ยังสามารถลงทุนได้

การลงทุนวัยเกษียณสำคัญอย่างไร ทำไมจึงควรศึกษาการลงทุน

ก่อนจะไปถึงการลงทุนวัยเกษียณ ควรเข้าใจหลักการของการลงทุนก่อนว่า ทำไมเราจึงควรลงทุน ทำไมการเก็บออมอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการวางแผนด้านการเงินในระยะยาว การออมเงินเป็นเพียงวินัยทางการเงินพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทว่าในโลกของเศรษฐกิจและการเงินมีความซับซ้อน สามารถเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา การลงทุนจึงสำคัญสำหรับทุกคนตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงวัยเกษียณ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินนั่นเอง

การลงทุนวัยเกษียณ
  1. การลงทุนเป็นการเพิ่มมูลค่าของเงิน

เมื่อเวลาผ่านไป อำนาจของเงินที่เราถือไว้ในมือจะน้อยลง เพราะเงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ แพงขึ้น ไม่ว่าในปัจจุบันจะมีเงินมากเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปเงินจำนวนเหล่านั้นก็ซื้อของได้น้อยลงอยู่ดี เพราะฉะนั้น ควรแบ่งเงินบางส่วนที่เป็นเงินเย็น ไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราไปลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเงินได้

  1. ช่วยให้รักษาเงินต้น ได้ใช้ดอกผลจากการลงทุนแทน

เมื่อการลงทุนช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินได้มากขึ้นผ่านผลตอบแทนที่ได้รับ ก็สามารถนำเงินที่เป็นกำไรมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ โดยที่เงินต้นยังคงมีจำนวนเท่าเดิมอยู่ได้ แต่การลงทุนวัยเกษียณผู้ลงทุนก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องเน้นการรักษาเงินต้น และให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ หากเลือกลงทุนได้เหมาะสม ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

  1. ทำให้มองการณ์ไกลด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ดีขึ้น

การลงทุนทำให้ผู้ลงทุนต้องติดตามข่าวเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก นักลงทุนจึงมีความรู้และข้อมูลข่าวสารมาก สามารถคาดคะเนแนวโน้มต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจได้ดี อีกทั้งยังทำให้ได้ใช้ความคิด และใช้ความรู้ ไม่ปล่อยให้หายไปตามกาลเวลา ซึ่งหากผู้สูงอายุอยู่เฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ได้

  1. ช่วยให้ประเทศมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

หากทุกคนเก็บออมเพียงอย่างเดียว ไม่นำเงินออกมาใช้จ่าย เศรษฐกิจจะเกิดภาวะหดตัว เกิดภาวะเงินฝืด ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ธุรกิจเท่านั้น และยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน เพราะภาคครัวเรือนก็ต้องอาศัยแรงงานหารายได้เข้าสู่ครอบครัว การลงทุนทุกรูปแบบจึงถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้าได้

เลือกการลงทุนวัยเกษียณที่ทุกคนสามารถทำได้ ในแบบที่เหมาะกับตัวเอง

การลงทุนวัยเกษียณจะง่ายขึ้น หากมีการศึกษาความรู้ด้านการเงินและการลงทุนมาตั้งแต่ก่อนเกษียณ เพราะจะทำให้เข้าใจกลไกการสร้างกำไรและเลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสม อย่างที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้โด่งดังเรื่องการลงทุนหุ้นได้กล่าวไว้ว่า วันที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนคือ 20 ปีที่แล้ว วันที่ดีรองลงมาคือวันนี้ เพราะฉะนั้นไม่มีคำว่าสาย เพียงแต่ต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดี และเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับวัยตนเอง

  1. เปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นธุรกิจ

เชื่อว่าหลายคนคงรอคอยวัยเกษียณเพื่อที่จะได้มีเวลาว่างและทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ งานอดิเรกหลายประเภทสามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เพิ่มเติมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก ปลูกไม้ประดับ งานประดิดประดอย งานศิลปะ หรือแม้แต่การทำคอนเทนต์ออนไลน์ คนวัยเกษียณก็สามารถทำได้เช่นกัน

  1. เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง

การลงทุนผ่านหุ้นหรือกองทุนรวม ควรศึกษาให้ดีว่าหุ้นหรือกองทุนใดที่เหมาะกับการลงทุนวัยเกษียณบ้าง โดยควรเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เพราะนอกจากจะสร้างผลตอบแทนเพื่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังสามารถส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานในระยะยาวได้ด้วย ตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุดก็คือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่ลงทุนได้ทั้งในรูปแบบหุ้น กองทุนรวม หรืออสังหาริมทรัพย์จริง ๆ

  1. ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม แบบมีปันผลสม่ำเสมอ

สุดท้ายแล้ว ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ตัวเองสามารถรับความเสี่ยงได้ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงอาจไม่เหมาะกับการลงทุนในวัยเกษียณที่เน้นการใช้ชีวิตมากกว่าการหารายได้ จึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่จ่ายผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในระหว่างลงทุน อย่างหุ้นปันผล หรือกองทุนปันผลนั่นเอง

การลงทุนวัยเกษียณอาจมีหลักการที่ไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนในวัยทำงานมากนัก ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของระยะเวลาและจำนวนเงินเย็นที่เก็บออมเอาไว้ ทั้งนี้การลงทุนก็ยังคงมีประโยชน์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งสำหรับชีวิตคนวัยเกษียณ อย่างน้อยผลกำไรจากการลงทุนก็ได้นำมาใช้จ่าย โดยอาจเก็บเงินต้นไว้เป็นมรดกส่งต่อไปยังลูกหลานได้ ยิ่งถ้าส่งต่อความรู้ทางการเงินและการลงทุนให้กับลูกหลาน ยิ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัวได้ในระยะยาวอีกด้วย